เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีการเพาะกันอย่างแพร่หลาย เจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุด
 

เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีการเพาะกันอย่างแพร่หลาย เจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 25 องศาเซลเซียส ในระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่ 80-85% ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเห็ดนางฟ้านั้นมาจากแถบภูเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย ลักษณะของดอกโดยทั่วไปจะคล้ายกับเห็ดนางรมและเป๋าฮื้อเนื่องจากอยู่ในตระกูล เดียวกัน ต่างกันตรงที่หมวกดอกจะมีสีขาวนวลจนถึงน้ำตาลอ่อนและมีเนื้อหนาแน่นกว่าเห็ด นางรม ขนาดดอกปานกลาง สามารถจำหน่ายทั้งแบบสดและแปรรูปำด้หลายชนิด

พันธุ์เห็ดนางฟ้าที่นิยมเพาะในประเทศไทย ได้แก่ เห็ดนางฟ้าภูฐาน ซึ่งนำมาจากภูฐานประเทศอินเดีย เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีรสหวาน มีกลิ่นหอม มีความกรอบอร่อย และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานถึง 3-4 วัน หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วจะมีระยะพักตัวเพียง 5-7 วัน ก็จะออกดอกให้เก็บผลผลิตต่อไปได้

วิธีการเพาะเห็ดนางฟ้ามีขั้นตอนคล้ายการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกทั่วไปโดย เริ่มจากการแยกเชื้อและเลี้ยงในอาหารวุ้น การเลี้ยงเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง การทำก้อนเชื้อและการทำให้เกิดดอกเห็ด ในที่นี้จะกล่าวถึงตั้งแต่วิธีการทำก้อนเชื้อ เป็นต้นไป

วิธีการทำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า

เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในวัสดุเพาะหลายชนิด เช่น ขี้เลื่อย ฟางสับ หรือซังข้าวโพด แต่วัสดุที่ดีที่สุดคือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ซึ่งมีวิธีการผลิตก้อนเชื้อดังต่อไปนี้

 
การทำก้อนเชื้อจากฟางสับ

ฟางที่ใช้เพาะควรเป็นฟางที่แห้งสนิท ไม่มีเชื้อราปะปนหรือมีกลิ่นเหม็น สูตรอาหารที่ใช้คือ ใช้ฟางสับยาว 2-3 นิ้ว 100 กก. ปุ๋ยนา(สูตร 16-20-0) 1 กก. ดีเกลือ 0.2 กก. ปูนขาว 1 กก. ความชื้น 70-75 % โดยมี ขั้นตอนการทำดังนี้

1. นำฟางสับไปแช่น้ำหรือรดน้ำให้ทั่ว แล้วผสมปุ๋ยและดีเกลือลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทำเป็นกองสูงคลุมด้วย พลาสติก หมักทิ้งไว้ 3 วัน ในวันที่ 3,4,5 และ6 ให้กลับกองฟางทุกวัน

2. ในวันที 7 ให้ใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรด-ด่าง และไล่ก๊าซแอมโมเนียที่เกิดขึ้นระหว่างการหมักฟางคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้ว ต่ออีก 1-2 วัน

3. บรรจุใส่ถุงพลาสติกที่ใช้เพาะเห็ด ซึ่งควรบรรจุให้หมดภายในวันเดียว ถุงก้อนเชื้อควรมีขนาด 8 ขีด ถึง 1 กก. เมื่ออัดก้อนเชื้อแน่นดีแล้ว ใส่คอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาษ แล้วรัดยางให้แน่น

4. นำก้อนเชื้อที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อทันที ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. นับจากน้ำเดือด แล้วทิ้งไว้ให้เย็น

5. นำหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้ประมาณ 10-20 เมล็ดต่อก้อนเขี่ยลงในก้อนเชื้อที่เย็นดีแล้ว แล้วรีบปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาษทันที สถานที่ที่ใช้ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงก้อนเชื้อควรสะอาดลมสงบ วัสดุที่ใช้เขี่ยหัวเชื้อควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้ง

6. แล้วนำก้อนเชื้อที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงเรียบร้อยแล้วไปบ่มไว้ในโรงบ่มก้อนเชื้อต่อไป

การทำก้อนเชื้อจากขี้เลื่อย

ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นวัสดุเพาะที่ดีที่สุด ได้แก่ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา การทำก้อนเชื้อจากขี้เลื่อยนี้ไม่ต้องหมักเหมือนใช้ฟางสับ แต่การเลือกหัวเชื้อควรให้แน่ใจว่าเป็นหัวเชื้อที่สามารถย่อยขี้เลื่อยเป็น อาหารได้ สำหรับสูตรที่ใช้ เช่น ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กก. รำละเอียด 5 กก. แป้งข้าวเจ้าหรือน้ำตาลทราย 1 กก. ดีเกลือ 0.2 กก. ปูนขาว 1 กก. ความชื้น 60-70% ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

1. ขี้เลื่อยที่ใช้ควรเป็นขี้เลื่อยกลางเก่ากลางใหม่จะดีที่สุด หากเป็นขี้เลื่อยใหม่ควรกองทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เนื่องจากขี้เลื่อยใหม่จะสลายธาตุอาหารบางอย่างทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเชื้อเห็ดและทำให้ความร้อนในก้อนเชื้อสูงเกินไป แต่ถ้าเป็นขี้เลื่อยเก่าอาจมีการปะปนของเชื้อโรคหรือเชื้อราชนิดอื่นได้ง่าย อีกทั้งมักไม่ค่อยมีธาตุอาหารสะสมอยู่มากนัก

2. หลังจากเตรียมสูตรอาหารได้แล้วให้นำส่วนผสมทั้งหมดไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกที่ใช้เพาะเห็ด ซึ่งควรบรรจุให้หมดภายในวันเดียว ถุงก้อนเชื้อควรมีขนาด 8 ขีด ถึง 1 กก. เมื่ออัดก้อนเชื้อแน่นดีแล้ว ใส่คอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาษ แล้วรัดยางให้แน่น

3. นำก้อนเชื้อที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อทันที ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. นับจากน้ำเดือดแล้วทิ้งไว้ให้เย็น

4. นำหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้ประมาณ 10-20 เมล็ดต่อก้อน เขี่ยลงในก้อนเชื้อที่เย็นดีแล้ว แล้วรีบปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาษทันที สถานที่ที่ใช้ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงก้อนเชื้อควรสะอาด ลมสงบ วัสดุที่ใช้เขี่ยหัวเชื้อควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้ง

5. นำก้อนเชื้อที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงเรียบร้อยแล้วไปบ่มไว้ในโรงบ่มก้อนเชื้อต่อไป

การบ่มก้อนเชื้อ

หลังจากใส่เชื้อเห็ดลงในถุงก้อนเชื้อแล้ว ให้นำไปบ่มในโรงบ่มเชื้อหรือบริเวณที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อให้เส้นใยเจริญในก้อนเชื้อ ในการจัดวางหากวางในแนวตั้งไม่ควรให้ถุงทับซ้อนกัน ถ้าจัดวางในแนวนอนสามารถจัดวางซ้อนกันได้แต่ต้องหมั่นกลับก้อนเชื้อด้านล่าง ขึ้นด้านบน เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ในช่วงที่เส้นใยจะเดินเต็มถุง ต้องหมั่นตรวจดูโรคแมลง มด มอดแมลงสาบ ปลวกหรือไร หากพบให้รีบนำก้อนเชื้อออกไปกำจัดทันที หรือฉีดพ่นด้วยสารสกัดตะไคร้หอมรอบ ๆ โรงบ่มเพื่อป้องกันไว้ก่อนได้

การทำให้เกิดดอก

ในการทำให้เห็ดเกิดดอกต้องย้ายก้อนเชื้อจากโรงบ่มไปไว้โรงเพาะ โรงเรือนที่เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดนางฟ้า ควรเป็นโรงเรือนที่สามารถเก็บความชื้นได้ดี มีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 80-85% อุณหภูมิที่ดีที่สุดสำหรับการเกิดดอกคือ 25 องศาเซลเซียส มีระบบถ่ายเทอากาศดีและสะดวกต่อการทำความสะอาด การคัดแยกก้อนเชื้อจากโรงบ่มให้สังเกตดูว่าก้อนเชื้อนั้นมีเส้นใยเดินเต็ม ถุงแล้ว และควรปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง เพื่อให้เส้นใยรัดตัวและสะสมอาหารก่อนนำไปเปิดปากก้อนเชื้อให้เกิดดอกคล้าย เห็ดนางรมต่อไป

1. วิธีวางก้อนเชื้ออาจวางในลักษณะแนวนอนบนชั้นวางซ้อน ๆ กันชั้นละ 3-5 ก้อนหรือเรียงโดยใช้เชือกแขวนแล้วตัดปากถุงบริเวณคอขวด เพื่อให้ดอกเห็ดออกดอกออกมา

2. วิธีการควบคุมความชื้นในระยะนี้ หากไม่ได้เพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งมีอุณหภูมิและความชื้นที่พอเหมาะอาจใช้วิธีการพ่นน้ำฝอย ๆ หรือรดน้ำที่พื้นโรงเพาะก็ได้(ถ้าใช้น้ำประปาควรพักน้ำไว้ 3-4 วัน เพื่อคลอรีนระเหยออกไปก่อน)

วิธีการเก็บเห็ดนางฟ้า

การเก็บเห็ดนางฟ้าควรเก็บในขณะที่กลุ่มของดอกเห็ดยังไม่บานเต็มที่ และควรเก็บเห็ดทั้งกลุ่มไม่ควรเลือกเก็บเฉพาะดอกใหญ่ในกลุ่มเดียวกัน เพราะจะทำให้ดอกอื่น ๆ ในกลุ่มนั้นฟ่อเสียหายทั้งกลุ่ม กรณีที่กลุ่มดอกเห็ดมีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่ โดยดอกเล็กมีจำนวนมากกว่า ควรรอให้ดอกเล็กโตได้ที่ก่อนแล้วค่อยเก็บ การเก็บให้ใช้มือไม่ควรใช้มีดตัด เพราะจะทำให้ส่วนของโคนก้านที่เหลือติดอยู่เน่าและสร้างความเสียหายให้กับ ดอกเห็ดอื่น ๆ ในก้อนได้ วิธีการเก็บให้ใช้มือจับที่โคนของดอกแล้วดึงเบา ๆ จากนั้นจึงใช้มีดคม ๆ ตัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับโคนดอกทิ้งไป

ปัญหาที่พบมากในการเพาะเห็ดนางฟ้า

หากเป็นเห็ดนางฟ้าภูฐานมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการปลอมปนของเชื้อ ราชนิดอื่นในก้อนถุง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อเชื้อราชนิดอื่นสูง โดยเฉพาะราเขียวและราดำ ซึ่งเป็นราที่สร้างความเสียหายให้กับเห็ดหลายชนิดและในขั้นการเพาะ หากมีการดูแลรักษาที่ดี ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมักพบในช่วงเห็ดออกดอกอาจพบปัญหาแมลงเข้าทำลายดอกเห็ด โดยเฉพาะพวกแมลงหวี่ เนื่องจากเห็ดนางฟ้าภูฐานจะมีกลิ่นหอม วิธีป้องกันให้ใช้สารสมุนไพรฉีดบริเวณรอบ ๆ โรงเรือนหรือหากพบการทำลายที่ก้อนเชื้อเห็ดให้รีบกำจัดออกไปเผาทำลายทันที

โรคเห็ด ศัตรูพืชเห็ด 

ขอบคุณ มหาวิทยาลัยแม้โจ้

สนับสนุนโดย อาหารเห็ดธรรมชาติ ตรา เห็ดพันดอก 

KOKOMAX 

https://www.kokomax.co.th